top of page
Writer's pictureNEO ACADEMY

20 คำศัพท์สำหรับ Digital Business Management

Updated: Jul 10, 2023


ไม่ว่าคุณจะกำลังทำธุรกิจอะไร หรือแม้แต่เริ่มสนใจจะประกอบกิจการสักอย่าง ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลย เพราะศาสตร์แห่งการจัดการสำหรับธุรกิจดิจิทัลนั้น มีเรื่องราวใหม่ ๆ เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน นี่คือ 20 คำพื้นฐานที่เราอยากให้คุณได้รู้จักและเข้าใจว่าความหมายของมันคืออะไร และสำคัญอย่างไรต่อการประกอบธุรกิจในโลกดิจิทัลอันผันผวน


1) B2B e-Commerce

คำนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ B2B ย่อมาจาก Business-to-Business หมายถึงการทำธุรกิจระหว่างเจ้าของธุรกิจกับเจ้าของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าหรือบริการ อีกคำก็คือ e-Commerce ซึ่งหมายถึง การชื้อขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจ การประกอบเข้าด้วยกันของ 2 คำนี้จึงหมายถึง การซื้อขายระหว่างเจ้าของกิจการด้วยกันผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีรูปแบบการติดต่อซื้อขาย และพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากการซื้อขายกับบุคคลทั่วไป โดยธุรกิจสามารถเลือกวางระบบดังกล่าวในเว็บไซต์ของตนเอง หรือผ่านแพลตฟอร์มกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ได้ตามความเหมาะสม



2) B2C e-Commerce

คำนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ B2C ย่อมาจาก Business-to-Customer กับคำว่า e-Commerce จึงหมายถึง การซื้อขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้บริโภค ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วกับร้านค้าออนไลน์ที่ขายสินค้า บริการต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียซึ่งแต่ละร้านจะมีเงื่อนไข กระบวนการสั่งซื้อ จ่ายเงิน จัดส่งแตกต่างกันไป ส่วนร้านค้าออนไลน์ประเภทนี้ที่อยู่บนแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ จะใช้ระบบเดียวกันทั้งแพลตฟอร์ม



3) C2C e-Commerce

คำนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ C2C ย่อมาจาก Customer to Customer กับคำว่า e-Commerce หมายถึง การซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กลุ่มซื้อขายหนังสือเก่า กลุ่มแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ามือสองในเฟซบุ๊ก หรืแฮชแท็กเฉพาะของแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่จะมีผู้เข้าไปประกาศขาย ประกาศขอซื้อไอเท็มสำหรับการสะสม เป็นพื้นที่ออนไลน์ที่ทำให้ผู้ที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องการ จึงได้รับความนิยมสูงเพราะผู้ซื้อกับผู้ขายติดต่อกันได้โดยตรง ไม่มีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ บวกเพิ่ม สามารถเปรียบเทียบราคา คุณภาพของสินค้าชนิดเดียวกันได้พร้อมกัน และขยายฐานธุรกิจได้อย่างกว้างขวางโดยไม่จำกัดแต่เพียงในประเทศเท่านั้น



4) B2D Marketing

คำนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ B2D ย่อมาจาก Business to Developer และคำว่า Marketing หมายถึง การตลาดที่เจาะกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์โดยตรง เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะดวก รวดเร็ว ง่ายต่อการทำงาน อาจเป็นได้ทั้งระบบการจ่ายเงิน เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล เครื่องมือทดสอบโปรแกรม หรือบริการโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาซอฟต์แวร์



5) PRODUCT-LED GROWTH (PLG)

กลยุทธ์ทางธุรกิจที่เชื่อว่าของดีใคร ๆ ก็อยากมี สินค้าที่ใช่ ใคร ๆ ก็ต้องการ เน้นการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นเลิศแตกต่างจากคู่แข่ง ขับเน้นตัวผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อเข้าถึงลูกค้า กระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย และรักษาลูกค้าไว้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการแบบ Freemium ให้ใช้งานฟรี แต่จะได้ใช้งานดีกว่าเดิมหากจ่ายเงินเพิ่ม เป็นที่นิยมอย่างมากในบรรดาธุรกิจที่ให้บริการซอฟต์แวร์ ตัวอย่างของธุรกิจที่ใช้ PLG นั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Adobe, Zoom, Slack, Figma และอีกมากมายที่ผู้ใช้ซอฟต์แวร์เลือกกระโจนเข้าใส่ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตอบโจทย์การทำงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี



6) PLATFORM AS A SERVICE (PAAS)

เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำแอปพลิเคชัน การทดสอบระบบ และการอัปเดต ทำให้หมดกังวลเกี่ยวกับติดตั้งระบบปฏิบัติการ ไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่จัดเก็บข้อมูล และไม่ต้องจ่ายเงินซ้ำซ้อนแต่จ่ายครั้งเดียวจบ เข้ามาในแพลตฟอร์มเดียวก็สามารถทำทุกอย่างได้ทันที เพราะมีระบบและทรัพยากรรองรับไว้พร้อมแล้วทั้งหมด ตัวอย่างเช่น Kubernetes, Windows Azure, Google App Engine (GAE), Force.com



7) INFRASTRUCTURE AS A SERVICE (IAAS)

การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี หรือระบบการจัดเก็บข้อมูลขององค์กร ผ่านคลาวด์คอมพิวเตอร์ หรือเปิดให้เช่าเซิร์ฟเวอร์สำหรับการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการซ่อมบำรุงพื้นที่จัดเก็บ หรือต้องหาพนักงานประจำมาดูแล แต่เพียงจ่ายเงินค่าใช้บริการให้แก่ผู้ให้บริการตามแพ็กเกจที่ต้องการ ตัวอย่างของ IAAS ที่คุ้นเคยกันดี เช่น Microsoft Azure, Google Compute Engine (GCE), Amazon Web Services (AWS)


8) SOFTWARE AS A SERVICE (SAAS)

แอปพลิเคชัน โปรแกรม หรือแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกในการทำงานด้านต่าง ๆ ใช้บริการโดยจ่ายค่าสมัครใช้บริการเป็นรายเดือนหรือรายปี ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อเข้าสู่ระบบผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อมีเวอร์ชันใหม่ก็เพียงกดอัปเดต ตัวอย่างคลาสสิกเช่น Microsoft Office 365 ซึ่งรองรับการใช้งานอันหลากหลายของพนักงานออฟฟิศทั่วโลก หรือ G-Suite ที่ทำให้การใช้งานอีเมลภายในองค์กรสามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบ ไม่ต้องลงทุนค่าใช้จ่ายด้านการติดตั้ง หรือดูแลระบบด้วยตนเอง


9) MINIMUM VIABLE PRODUCT (MVP)

ผลิตภัณฑ์สำหรับประเมินการตลาดเพื่อทดสอบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน โดยออกแบบให้มีฟีเจอร์เท่าที่จำเป็น อาจจะเป็นหน้าเว็บไซต์สักหน้า แอปพลิเคชันหน้าตาธรรมดาที่มีแค่ฟังก์ชันแปลกใหม่เพียงออย่างเดียวให้ลูกค้าทดลองใช้แล้วแสดงความคิดเห็น ก่อนจะนำมาปรับปรุงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบต่อไป

คำนี้มักจะได้ยินบ่อยๆ ในแวดวงสตาร์ตอัพ ซึ่งพยายามนำวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความล้มเหลวมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อใช้เวลาให้น้อยที่สุดและประหยัดทรัพยากรในการทำงานให้ได้มากที่สุด



10) TAILORED APP

แอปพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ อาจใช้เป็นการชั่วคราวเพื่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือสำหรับการใช้งานภายในขององค์กรเฉพาะกลุ่ม มักสร้างสรรค์ขึ้นโดยบริษัทที่ให้บริการ SOFTWARE AS A SERVICE: SAAS เช่น เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องการอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยให้ลูกบ้านในโครงการต่าง ๆ จึงว่าจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญ ออกแบบแอปพลิเคชันที่รองรับความต้องการของลูกบ้านได้อย่างตรงจุด และมีฐานข้อมูลแต่ละบ้านอย่างละเอียด



11) BLOCKCHAIN

เทคโนโลยีว่าด้วยระบบการเก็บข้อมูล (Data Structure) ที่ไม่มีตัวกลาง ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานต่ำลง ไม่ต้องรอให้นายธนาคารประทับตรายืนยันตัวตน หรือตรวจเอกสารโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ใช้รหัส Token ยืนยันตัวตนแทนการตรวจสอบด้วยบุคคล ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บเป็นสำเนาไว้กับทุกคนที่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เปรียบเหมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ยึดโยงกันไว้ แม้ต่างคนต่างไม่รู้จักกัน จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเข้าไปแก้ไข ดัดแปลงได้


ปัจจุบันนำมาใช้ในการซื้อขาย Bitcoin กันอย่างแพร่หลาย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่ต้องการความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น การนับคะแนนผลการเลือกตั้ง การบริจาคเงิน เป็นต้น



12) DATA ECONOMY

ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นการนำข้อมูลมาจัดเก็บ จัดการ บริหารจัดการ วิเคราะห์ สังเคราะห์แล้วแลกเปลี่ยนระหว่างกันในเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการตัดสินใจ การต่อยอดทางเศรษฐกิจ ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ซึ่งระบบเศรษฐกิจนี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน การวางนโยบายที่เป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล และเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนภารกิจของตนเองได้จริง



13) DEEP TECHNOLOGY (DEEP TECH)

เทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อน ผ่านการค้นคว้าวิจัย เป็นได้ทั้งการนำเทคโนโลยีเดิมมาประยุกต์ใช้ในเชิงลึกและการพัฒนาใหม่ ด้วยหลักการเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงยากที่จะลอกเลียนแบบ ตัวอย่างเช่นการสร้างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ระบบอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง วัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ บล็อกเชน ฯลฯ ในประเทศมีโครงการ U.REKA ที่คอยสนับสนุน Deep Tech ทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการตลาดด้วย



14) FINTECH

เป็นคำย่อของ Financial Technology อันหมายความถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร ทำให้การจัดการหลังบ้านสะดวกขึ้น ทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินของบุคคลทั่วไปง่ายดายขึ้น ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ Online Banking แอปพลิเคชันธนาคาร แอปพลิเคชันสำหรับจ่ายเงิน การซื้อขายหุ้น กองทุนผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงเงินดิจิทัลอย่าง Cryptocurrency ด้วยเช่นกัน



15) DIGITAL CUSTOMER EXPERIENCE

ประสบการณ์ของผู้ใช้งานในรูปแบบดิจิทัลนั้นมีรายละเอียดซับซ้อนไม่แพ้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานในรูปแบบดั้งเดิม เพราะล้วนแต่ประกอบขึ้นจากการออกแบบสื่อดิจิทัลหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางดิจิทัล


คุณสมบัติพื้นฐานของประสบการณ์ในรูปแบบดิจิทัลนั้นหนีไม่พ้นความรวดเร็ว ตอบสนองต่อการคลิก การกด การสัมผัสอย่างทันทีทันใด ไม่หน่วงหรือติดขัด เช่น ความรวดเร็วฉับไวในการถามตอบกับแชตบอต ความมั่นใจเมื่อใช้งานแอปพลิเคชันทำธุรกรรมทางการเงิน ไปจนถึงความสนุกลื่นไหลระหว่างเล่นเกมออนไลน์ ล้วนแต่เป็นผลมาจากการออกแบบอย่างพิถีพิถันทั้งสิ้น



16) OPEN SOURCE CODE

ซอฟต์แวร์ที่เปิดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สนใจสามารถแก้ไข ดัดแปลง เผยแพร่ต่อได้ เพื่อการศึกษา หรือเพื่อนำไปพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อยอดร่วมกัน แหล่งที่มีการแบ่งปัน Open Source Code ได้แก่ Opensource.com, GitHub, CodeAcademy, Code.org ซึ่งเป็นขุมทรัพย์สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์และหลายธุรกิจที่จะนำมาใช้เป็นแบบฝึกหัดพัฒนาระบบที่มีอยู่ของตนเอง หรือศึกษาวิธีคิดของผู้อื่นได้อย่างละเอียด โดย Open Source Code จะตรงกันข้ามกับ ​​Closed software ซึ่งไม่เปิดให้สาธารณะเข้าถึง เนื่องจากเหตุผลทางธุรกิจ หรือทรัพย์สินทางปัญญาบางประการ



17) OPEN DATA

ข้อมูลที่นำไปใช้ได้อย่างเสรี แจกจ่ายได้ เปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยข้อมูลดังกล่าวต้องอยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการนำไปใช้งานต่อและนำไปปรับปรุงแก้ไขได้ หลายบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเปิดข้อมูลบางส่วนให้คนอื่นนำไปใช้ได้ฟรีๆ เพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมอื่นได้อย่างไม่รู้จบ ธุรกิจต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดข้อมูลของตัวเองให้ผู้อื่นเข้าถึง เพื่อมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ และยังใช้ประโยชน์จากการนำข้อมูลของผู้อื่นมาวิเคราะห์ สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจของตัวเองได้ช่นกัน


18) MICRO-PAYMENT

การชำระเงินในชีวิตประจำวันที่มีวงเงินประมาณ 5-100 บาท เช่นการจ่ายเงินค่าอาหารเดลิเวอรี่ การจ่ายเงินค่าโดยสารรถประจำทาง เป็นต้น แต่แม้จะเป็นการชำระเงินจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ส่งผลไม่น้อยต่อการทำธุรกิจออนไลน์ เพราะหากใช้บัตรเครดิต บางรายการอาจมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าราคาสินค้าเสียอีก หรือหากระบบจ่ายเงินยุ่งยากเกินไปก็อาจทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าเจ้าอื่นได้อย่างไม่ลังเล ปัจจุบันมีระบบ Micro Payment เป็นตัวกลางในการชำระเงินหลากหลายรูปแบบ มีส่วนช่วยลดต้นทุนในการจัดการ (Transaction Cost) ให้แก่ธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องกังวลกับภาระในการดูแลระบบ หรือปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ



19) INTERNET OF VALUE

พื้นที่กลางในระบบออนไลน์ที่มีการแลกเปลี่ยนมูลค่าต่าง ๆ ระหว่างกัน มีบล็อกเชนเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงที่ทำให้เครือข่ายอันซับซ้อนและมหาศาลมารวมตัวกัน สร้างการแลกเปลี่ยนมูลค่าข้ามรูปแบบ ข้ามแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา สินทรัพย์ หุ้น ทรัพย์สินทางปัญญา การค้นพบใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ลดทั้งต้นทุนและลดความเสี่ยง ในกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน



20) SOCIAL BANKING

บริการธนาคารออนไลน์ด้วยโซเชียลมีเดีย อาจเป็นได้ทั้งการร่วมมือระหว่างธนาคารกับเจ้าของแพลตฟอร์มแพลตฟอร์มซึ่งมีฐานข้อมูลของลูกค้าจำนวนมาก เช่น Alipay ที่มีการใช้

งานกันอย่างกว้างขวางในประเทศจีน

นับเป็นบริการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปพร้อม ๆ กัน ธนาคารได้ประโยชน์จากการแชร์ข้อมูล โซเชียลมีเดียทั้งหลายก็ได้เพิ่มฟังก์ชันที่ทำให้ผู้ใช้บริการสะดวกสบาย เสนอบริการทางการเงินได้ตรงความต้องการของลูกค้า และที่สำคัญช่วยกระจายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน สำหรับประชาชนที่ไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือไม่มีเอกสารยืนยันรายได้สำหรับการกู้เงิน เพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการใช้จ่ายซึ่งอาจเคยเป็นข้อจำกัดในอดีต



รู้คำศัพท์แล้วต้องไม่ทิ้งหลักการ มาอัปเดตความรู้ ฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจยุคดิจิทัล ได้ที่หลักสูตรการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล Digital Business Management https://www.neoacademy.pro/mini-mba-business-management-in-digital-era



แหล่งอ้างอิง

1,372 views1 comment

1 commentaire


janesertillsond
16 nov. 2021

HR Smart Tool

J'aime
bottom of page