top of page
Writer's pictureNEO ACADEMY

R-E-A-D ตัวช่วยวางแผนจัดสรรทรัพยากรการตลาดดิจิทัล

Updated: Jun 19, 2023



เมื่อทรัพยากรมีจำกัด ความคิดสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้น

เราต่างรู้ดีว่าทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการทำงานทุกชนิดนั้นหนีไม่พ้นเวลา งบประมาณ และคนทำงาน ผลลัพธ์ที่ราบรื่นและเรียบง่าย ล้วนมาจากการวางแผนที่ดี มีระบบที่ยืดหยุ่นมากเพียงพอรองรับเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำในโลกออนไลน์

แน่นอนว่าการจัดสรรทรัพยากรการตลาดดิจิทัล ช่วยลดความสูญเปล่าในการทำงานลงได้มาก เนื่องจากตลาดดิจิทัลกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น มีการทุ่มเม็ดเงินลงทุน สร้างสรรค์สื่อโฆษณาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ




แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Resources Allocation and Planning for Digital Marketing ทำการสอนโดย คุณณัฐพงษ์ อินทร์โพธิ์ และคุณอภิชิต รุ่งจิราภิรัตน์


หลักการพื้นฐานในการจัดสรรทรัพยากร สำหรับนักการตลาดดิจิทัล เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการมีดังนี้


1. ทบทวนเป้าหมาย (Review Objective & Goal)

การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่คนทำงานทุกคนต่างรู้กันดี แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงมือทำงานวันแล้ววันเล่า เราอาจมัวโฟกัสกับเป้าหมายรอง เป้าหมายย่อย ๆ ประจำวันจนลืมไปว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงคืออะไร จนอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้



นักการตลาดดิจิทัลจึงจำเป็นต้องทบทวนจุดประสงค์และเป้าหมายของบริษัท ซึ่งหมายถึงยอดขาย ผลกำไรต่อปี พร้อมกับตั้งเป้าหมายทางการตลาดดิจิทัล ว่าจะต้องผลิตสื่อโฆษณาที่เข้าถึงผู้ชมกี่คนต่อปี สร้างเนื้อหาผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้มีผู้ติดตามกี่คนในแต่ละเดือน

2. ประเมินกลยุทธ์ (Evaluate Strategy and Tactic)

เลือกเครื่องมือที่ใช่สำหรับเป้าหมายที่้ต้องการ ปัจจุบันมีโซเชียลมีเดียมากมายหลายช่องทางให้เลือกสรรสำหรับเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย การเลือกแต่ละกลยุทธ์ในการสื่อสารก็เป็นตัวกำหนดรูปแบบและวิธีการนำเสนอด้วยเช่นกัน



หลักในการเลือกใช้เครื่องมือทั้งหมดทั้งมวลที่มีอยู่นั้น นอกจากจะเลือกช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานเป็นประจำแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปด้วย ว่าต้องการผลลัพธ์ในรูปแบบใด


แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Resources Allocation and Planning for Digital Marketing ทำการสอนโดย คุณณัฐพงษ์ อินทร์โพธิ์ และคุณอภิชิต รุ่งจิราภิรัตน์



จากแผนภาพด้านบนแสดงให้เห็นว่าหากต้องการส่งสารไปให้ถึง (Reach) ควรเลือกใช้เครื่องมือที่สร้าง SEO ตอบสนองผลการค้นหาจากความต้องการ หรือการใช้สื่อโฆษณาทั้ง Own Media ที่มีอยู่แล้ว Paid Media ที่จ่ายเงินเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและ Earned Media จากแคมเปญ สร้างสรรค์ สนุก ดึงดูดใจให้มีผู้อื่นช่วยนำไปพูดถึงต่อ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนำเสนอตัวตนที่น่าสนใจของแบรนด์ให้ได้มากที่สุด



เพื่อนำไปสู่การกระตุ้นความสนใจ ให้รู้สึกน่าติดตาม เริ่มจดจำได้หรือกดติดตามเนื้อหาผ่านช่องทางต่าง ๆ (Act) เพื่อที่จะตามมาด้วยการเปลี่ยนจากผู้ชมเนื้อหามาเป็นผู้ซื้อ (Convert) ผ่านระบบการเลือกสินค้า การจ่ายเงิน และการขนส่งที่สะดวกสบายน่าประทับใจ อันจะนำไปสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ (Engage) ที่ส่งผลดีระยะยาว เพราะผู้ซื้อจะกลายเป็นแฟนคลับที่มาช่วยโฆษณาด้วยความเต็มใจต่อไปไม่รู้จบ



3. โครงสร้างการทำงาน (Assess Team Structure)



แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Resources Allocation and Planning for Digital Marketing ทำการสอนโดย คุณณัฐพงษ์ อินทร์โพธิ์ และคุณอภิชิต รุ่งจิราภิรัตน์


โครงสร้างหลักของการทำแผนการตลาดดิจิทัลประกอบด้วย 3 ส่วน

1) ซื้อสื่อ ผู้วางแผนบริหารจัดการสื่อโฆษณาว่าจะไปปรากฏที่ใดบ้าง ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ เช่น Media Planner, ผู้จัดการการซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (Biddable)

2) สร้างสาร ผู้ผลิตและออกแบบสารที่ต้องการสื่อออกไป ผ่านถ้อยคำ รูปภาพ สื่อผสมต่าง ๆ เช่น Craeative, Copywriter หรือ Graphic Designer เป็นต้น

3) ส่งเสริม ผู้ช่วยประสานให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นตามที่วางแผนไว้ เช่น Analyst, Co-ordinator และ Developer เป็นต้น

ทั้งสามฝ่ายจะทำงานสอดคล้องประสานกันได้ก็ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการบุคคลในองค์กรที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันไป บางบริษัทมีงานหลากหลายรูปแบบที่ต้องทำไปพร้อมกัน จึงจำเป็นต้องวางแผนการทำงานแต่ละโครงการของแต่ละคนอย่างเหมาะสม เพื่อให้งานเดินหน้าไปตามกำหนดที่วางไว้ อย่างมีคุณภาพและผลลัพธ์ที่คาดหวัง

4. กำหนดงบประมาณ (Define the Budget)


วิธีการกำหนดงบประมาณจัดทำได้หลายรูปแบบ โดยมีตัวอย่างที่ให้ข้อดีมีข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้

  • Strategies-Based เน้นตอบโจทย์กลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ ทุ่มงบประมาณได้อย่างไม่จำกัด แต่ก็อาจทำให้ขาดการลำดับความสำคัญ หรือใช้จ่ายบางอย่างไปอย่างไม่จำเป็น

  • Measurement-based เน้นการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ต้องการ เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่าการใช้งบประมาณไปนั้นเกิดผลมากน้อยเพียงใด แต่ก็อาจทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่มีโอกาสพัฒนาไปได้เกินความคาดหมาย

  • Last Year เน้นการกำหนดเกณฑ์เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเทียบกับโครงการอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะสามารถนำบทเรียนของสิ่งที่ผิดพลาดหรือพัฒนาได้ไม่เต็มที่มาทำให้ดีขึ้นได้ แต่มีข้อเสียคืออาจไม่เป็นไปตามกลยุทธ์ที่ตั้งไว้

  • Executive Leader เน้นวิสัยทัศน์ของผู้นำ ด้วยการคาดการณ์ความเป็นไปได้ผ่านข้อมูล เทรนด์ที่ได้รับรู้มา ซึ่งหากเลือกวิธีการนี้อาจจะต้องเผื่อใจไว้สำหรับการผลลัพธ์ที่อาจไม่เป็นดั่งหวังด้วยเช่นกัน


TRIPLE A (3As)

เมื่อได้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรสำหรับการตลาดดิจิทัลแล้ว ต้องประเมินให้แน่ใจด้วยว่า แผนดังกล่าวตอบโจทย์ที่จะนำไปใช้ได้จริง ตามหลักดังต่อไปนี้


  • ALIGN สอดคล้องกับเป้าหมาย

  • APPROPRIATE เหมาะสมกับกลยุทธ์

  • ADJUST ปรับเปลี่ยนได้ ไม่ตายตัว


หากตรวจสอบว่าแผนที่วางไว้ผ่านเช็กลิสต์ข้างต้นทั้งหมด ถือได้ว่าพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นนำไปใช้งานจริง แต่การจัดการทรัพยากรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาสตร์แห่งการจัดการการตลาดดิจิทัลเท่านั้น หากคุณคือ เจ้าของกิจการมือใหม่ ผู้บริหารที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้ หรือนักการตลาดไฟแรงที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะกับผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลตัวจริง มาพบกันที่หลักสูตร Mini MBA - Digital Marketing Management โดย NEO Academy



61 views0 comments

Comments


bottom of page