top of page

ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม ๆ ด้วยวิธีคิดแบบธุรกิจแพลตฟอร์ม

Updated: Jun 19, 2023



การสร้างพื้นที่ที่ตอบโจทย์การแลกเปลี่ยนและความเชื่อมั่นจากกลุ่มเป้าหมายทั้งสองฝั่ง คือหัวใจหลักของแนวคิดการสร้างธุรกิจแพลตฟอร์ม เมื่อความต้องการซื้อกับความต้องการขายมาพบเจอกันได้อย่างสะดวกง่ายดาย กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการปรับตัวธุรกิจในยุคดิจิทัลที่ใคร ๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้



แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business of Platforms สอนและออกแบบโดยคุณไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง Builk



การทำธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม (The Business of Platforms)

คำว่า แพลตฟอร์ม (Platform) เริ่มต้นใช้กันมาตั้งแต่ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1990 หมายความถึงเว็บไซต์ยุคบุกเบิกอย่างวิกิพีเดีย (Wikipedia) อีเบย์ (eBay) และมายสเปซ (Myspace)

ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างกันของผู้คนที่เข้าไปใช้งาน ไม่ว่าสิ่งที่แลกเปลี่ยนจะเป็นความรู้ ซื้อขายสิ่งของ ผลงานสร้างสรรค์ หรือแม้แต่เรื่องราวส่วนตัว

โดยทั่วไปแพลตฟอร์มหมายถึงรูปแบบของการเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่อยู่คนละฝั่งเข้าหากัน แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาสูงขึ้นทำให้สามารถเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายกลุ่มเข้าถึงกันได้อย่างเป็นระบบ ทําให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ได้จำกัดรูปแบบว่าจะต้องเป็นแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์เสมอไป เป็นได้ทั้งตลาดจริง (Physical) หรือร่วมกับตลาดในระบบออนไลน์ (Virtual) ก็ได้เช่นกัน

รูปแบบการคิด การทำงานของธุรกิจแพลตฟอร์ม จึงเหมาะสำหรับการปรับตัว ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของตลาดการซื้อขายในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง




ประเภทของแพลตฟอร์ม


แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business of Platforms สอนและออกแบบโดยคุณไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง Builk


1. Marketplace Platform

รูปแบบของแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ร้านค้ามารวมตัวกันในแพลตฟอร์มเดียว เป็นได้ทั้ง สำหรับสินค้า (Product Marketplace Platform) สำหรับบริการ (Service Marketplace Platform) สำหรับการใช้งานสินทรัพย์ (Asset-Sharing Marketplace Platform)

ผู้ให้บริการ Marketplace Platform จะไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าเอง แต่เป็นผู้ออกแบบการใช้งาน ออกแบบระบบการเลือกซื้อไปจนถึงจ่ายเงินและการจัดส่งสินค้า นอกจากนี้ยังอาจมีการส่งเสริมการตลาดให้เจ้าของร้านขายดีขึ้น และมีการรับประกันให้ผู้ซื้ออุ่นใจว่าจะไม่ถูกโกง



2. Content Platform

รูปแบบของแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตเนื้อหากับผู้รับเนื้อหาได้มาพบกัน โซเชียลมีเดียเปิดพรมแดนใหม่ ให้ทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างง่ายดาย ผู้ให้บริการ Content Platform จะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาด้วยตนเอง แต่เป็นผู้ออกแบบระบบให้ผู้ใช้งานสามารถเขียนบทความ ถ่ายวิดีโอ อัดเสียง โพสต์ภาพลงไปบนแพลตฟอร์มเพื่อเผยแพร่ออกไปได้ด้วยตนเอง ผู้ให้บริการอาจเก็บเงินจากโฆษณาในแพลตฟอร์ม หรือเก็บค่าบริการสำหรับการเข้าถึงผู้รับเนื้อหาที่มากขึ้น



3. Sharing Platform

รูปแบบของแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ต่าง ๆ นำมาแบ่งปันให้ผู้ที่ต้องการใช้งานได้เช่านำไปใช้ในเวลาจำกัด ผู้ให้บริการ Sharing Platform จะไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์โดยตรง แต่สร้างพื้นที่ให้เจ้าของสินทรัพย์กับผู้ต้องการใช้งานได้มาเจอกัน ออกแบบระบบการจองวันเวลา กำหนดระเบียบข้อตกลงต่าง ๆ ในการใช้งาน ไปจนถึงการชดใช้เมื่อสิ่งของเสียหาย



เปลี่ยนธุรกิจดั้งเดิมสู่ธุรกิจแพลตฟอร์ม

แหล่งอ้างอิง: https://platformbusinessmodel.com/platform-business-model-meaning/


ในกระบวนการสร้างธุรกิจแพลตฟอร์มนั้น ผู้เกี่ยวข้องของธุรกิจ (Stakeholders) จะค่อย ๆ เชื่อมโยงกันจนเกิดเป็น Platform Ecosystem แพลตฟอร์มที่มั่นคงยั่งยืนจึงจำเป็นต้องมีระบบงาน (Exchange Platform) เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจได้มาพบเจอกัน นำไปสู่การซื้อขายแลกเปลี่ยน ต้องมีระบบรองรับการเกิดธุรกรรมทางธุรกิจ (Transaction Platform) มีระบบการซื้อขายสินค้าและบริการ การติดตามขั้นตอนการส่งสินค้า และต้องมีโปรแกรมหรือเครื่องมือที่ช่วยอํานวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและการซื้อขาย (Component and Tool-Rich Platform)

ธุรกิจแพลตฟอร์มที่ดีจำเป็นต้องลดต้นทุนของการซื้อขาย มอบความสะดวกสบายให้ผู้ขายและผู้ซื้อได้มากขึ้นตลอดกระบวนการตั้งแต่สนใจเลือกซื้อ การจ่ายเงิน ไปจนถึงบริการหลังการขาย นิยามความสําเร็จของธุรกิจแพลตฟอร์มจึงไม่ได้ขึ้นตรงต่อคุณภาพและราคาของสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มไปพร้อมกันด้วย

การจะเปลี่ยนจากธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจแพลตฟอร์ม จึงจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานของตนเองและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างถ่องแท้ ก่อนจะเลือกว่าจะต่อยอดอย่างไร มีรูปแบบการปรับตัวไปสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

1) Enterprise Integration นำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเข้าถึงผู้เกี่ยวข้องของธุรกิจส่วนต่าง ๆ ออกแบบวิธีการทำธุรกิจแบบใหม่บนแพลตฟอร์มที่มีพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว

2) Openness เชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่ในระนาบเดียวกันเพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้น

3) Create Network Effect การสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องของธุรกิจจำนวนมากด้วยเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล



การทำธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สร้างโอกาสใหม่ที่จะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลักสูตรการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล Digital Business Management เท่านั้น ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรได้ที่ https://www.neobycmmu.com/mini-mba-digital-business-4



แหล่งอ้างอิง:


293 views0 comments
bottom of page