top of page
Writer's pictureNEO ACADEMY

How to make a GREAT Business Plan เขียนแผนธุรกิจอย่างไร ให้ไม่พลาดแบบที่แล้วมา

Updated: Jul 10, 2023


แผนธุรกิจ คือ เอกสารหรือรายงานที่เขียนขึ้น เพื่อนำเสนอสิ่งที่เราคิด อย่างเป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ ตลาดที่ต้องการจะเข้าไปทำธุรกิจ คุณค่าและสิ่งที่จะนำเสนอต่อลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย และรายละเอียดเกี่ยวกับกลยุทธ์และแผนการดาเนินการและการสร้างองค์กรเพื่อรองรับธุรกิจนั้น



แผนธุรกิจสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำธุรกิจในระยะยาว ในเบื้องต้น ผู้ที่เริ่มเขียนเป็นครั้งแรกอาจจะใช้เวลาอยู่ไม่น้อย แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป เพราะแผนธุรกิจที่ดีจะเป็นเหมือนพิมพ์เขียวของการทำงาน เป็นแผนที่สำหรับการเดินทางไกล ที่ทำให้เรามองเห็นเป้าหมาย เห็นกระบวนการขั้นตอนระหว่างทางได้ชัดเจน



ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อการหานักลงทุน หาหุ้นส่วนมาร่วมงานด้วย แต่ยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจเองมองเห็นองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ มองเห็นจุดอ่อน จุดแข็ง ทำให้คาดการณ์ความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที และมากไปกว่านั้น ก็คือสามารถช่วยทบทวนงบประมาณที่ประมาณการกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ปรับปรุงหรือแก้ไขการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างราบรื่นได้ในระยะยาว



องค์ประกอบของแผนธุรกิจ

1. บทสรุปผู้บริหาร (Executive summary)

อธิบายภาพรวมของธุรกิจใน 1 หน้ากระดาษ ใช้พื้นที่นี้ดึงความสนใจของผู้อ่านให้ได้มากที่สุด เขียนให้กระชับ ได้ใจความ แต่อยากเปิดอ่านรายละเอียดต่อไป โดยอธิบายภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดให้เข้าใจว่า ธุรกิจของบริษัทคืออะไร และกำลังจะทำอะไร สิ่งที่บริษัทนำเสนอ จะช่วยแก้ปัญหาอะไร ให้กับใครได้บ้าง แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และเป้าหมายรอง และช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารแนวคิดทางธุรกิจของบริษัทด้วยข้อมูล หรือถ้อยคำที่สนับสนุนความเป็นไปได้ โอกาสทางธุรกิจที่สำคัญกำลังเกิดขึ้น โดยไม่ลืมสอดแทรกให้เห็นถึงประสบการณ์และความสามารถของทีมผู้บริหาร และทีมที่ปรึกษาของบริษัท



2. ที่มาของธุรกิจ (Business background)

ส่วนนี้จะเป็นการอธิบายว่าทำไมถึงต้องมีธุรกิจนี้เกิดขึ้น ควรปูพื้นให้เห็นภาพรวมของตลาดที่เป็นอยู่ หรือปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายต้องเจอ แล้วชูให้เห็นความสำคัญ ศักยภาพที่เรามี โดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ไม่อ้างอิงข้อมูลที่กว้างจนมองไม่เห็นความเชื่อมโยง ไม่ยกคำพูดขึ้นมาลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไป



3. รายละเอียดธุรกิจสินค้าหรือบริการ (Business description & Products/services description)

อธิบายถึงสินค้าและบริการโดยละเอียด สามารถหยิบยกมาเล่าได้ตั้งแต่แนวคิดในการสร้างสรรค์ ทีมงานวิจัยและพัฒนาที่มีขั้นตอนการทำงานน่าเชื่อถือ หลักในการเลือกสรรวัตถุดิบที่ใช้ กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน หรืองานบริการที่มีการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ผู้อ่านมองเห็น “คุณค่า” ที่เราเลือกใส่ลงไปในสินค้าและบริการนั้นๆ



4. การวิเคราะห์โอกาส การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตลาด และการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรม (Opportunity Evaluation, Market Analysis and Industry Analysis)

• ระบุช่องว่างในตลาด ว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือบริการที่เราต้องการนำเสนอ จะมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มใด ประเมินโอกาสทางธุรกิจที่เป็นไปได้จากข้อมูลพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย และบริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจตามช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้

• วิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดออกมาจากข้อมูลทางสถิติที่น่าเชื่อถือ จากนั้นหยิบยกคู่แข่งที่สำคัญ ชูจุดเด่น จุดด้อยเทียบกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ผลการวิเคราะห์แม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้



5. แผนการตลาด (Marketing plan)

ส่วนนี้จะเป็นการอธิบายแผนที่จะใช้ในการขายสินค้าหรือบริการ ใส่รายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย ช่องทางในการสื่อสารซึ่งจะสัมพันธ์กันกับแผนการดำเนินงาน ว่าจะเปิดตัวสินค้า เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างแคมเปญกระตุ้นการรับรู้เมื่อไร อย่างไร เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ตามเป้าหมายแต่ละช่วงที่กำหนดไว้ ทั้งในแง่ยอดขาย ความรับรู้ในสังคม และตัวตนของแบรนด์ที่ต้องการจะสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย



6. แผนการดำเนินงาน (Operation plan)

แผนการดำเนินงานคืออะไร และใช้ระยะเวลาเท่าไร เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการรับรู้ สำหรับตัดสินใจวางแผนการลงทุน การใส่ข้อมูลแผนการดำเนินงานอย่างละเอียด แต่ไม่แข็งตัวจนขาดความยืดหยุ่น ไปจนถึงแผนสำรองเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันในการดำเนินงาน จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานที่วางไว้จะเป็นไปได้ด้วยดี



7. แผนการบริหาร (Management plan)

อธิบายให้เห็นถึงโครงสร้างองค์กร ผ่านแผนภูมิ หรือการอธิบายที่เข้าใจได้ง่าย ชี้แจงวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรการผลิต โดยแสดงแผนการบริหารงานอย่างละเอียด ส่วนนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของทีมบริหาร ว่าเลือกรูปแบบการจัดการได้เหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจหรือไม่ รวมทั้งยังสะท้อนแนวคิดในการทำงานภายในองค์กรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย



8. ทีมบริหาร (Management team)

การใส่ข้อมูลทีมบริหารของธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีประสบการณ์ตรงกับสายงานธุรกิจนั้นๆ หรือคุณสมบัติที่น่าสนใจจะช่วยทำให้ผู้อ่านมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมบริหาร รวมไปถึงระหว่างที่เขียนแผน ก็ทำให้ผู้เขียนเองได้ทบทวนทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ด้วย ว่าเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่



9. แผนการเงิน (Financial plan)

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจได้ แผนการเงินที่ชัดเจน อ่านง่าย ไม่สับสน ช่วยทำให้มองเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่น่าสนใจ ก็จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุน ว่าหากมาร่วมลงทุนด้วยแล้วจะคุ้มค่ากับมากน้อยเพียงใด



10. แผนการบริหารความเสี่ยงในธุรกิจ (Risk evaluation & management plan)

ชี้แจงให้เห็นความเสี่ยงของธุรกิจอย่างจริงใจ ไม่ปิดบังข้อเท็จจริง แต่แสดงแผนการบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่ละเอียดรอบคอบ มีหลากหลายแนวทาง จากการพิจารณาความเป็นไปได้หลากหลายมุม เพื่อให้ผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นธนาคารผู้ปล่อยกู้สินเชื่อ นักลงทุน หรือแม้แต่คนในองค์กรรู้สึกอุ่นใจ เมื่อเกิดเหตุใดขึ้น แผนเหล่านี้จะช่วยประคับประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีสติ และมั่นคง



11. ภาคผนวก (Appendix)

เป็นข้อมูลเพิ่มเติม รูปภาพประกอบ หรือแผนภูมิต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจ ในส่วนนี้ มีหรือไม่มีก็ได้ พิจารณาตามความเหมาะสม


โดยสรุปแล้ว แผนธุรกิจที่ดีจำเป็นต้องเน้นวิสัยทัศน์ทางธุรกิจและเป้าหมายของธุรกิจให้ชัดเจน กระชับ ไม่ยืดยาวจนเกินไป ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ แนะนำว่า ความยาวไม่เกิน 30 หน้า จัดรูปแบบให้ดูน่าเชื่อถือ มีความเป็นมืออาชีพ ใช้ภาษาเป็นทางการ แต่อ่านเข้าใจได้ง่าย โดยแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกันของแต่ละส่วนที่กล่าวมาข้างต้น เนื้อหาทั้งหมดต้องมีความบนพื้นฐานของข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้อง เขียนถึงความเป็นไปได้ในธุรกิจ แต่ไม่เกินความเป็นจริง และที่สำคัญไม่แพ้หัวข้อต่างๆ ที่กล่าวมาก็คือ ความใส่ใจ และความตั้งใจจริงในฐานะคนทำธุรกิจที่มีเป้าประสงค์อันแน่วแน่ เพราะสิ่งนี้จะแฝงอยู่ในทุกตัวอักษรของแผนธุรกิจที่คุณเขียนขึ้นมา





785 views0 comments

Comments


bottom of page