top of page

ทำไม “สังคมอายุยืน” ถึงสำคัญและใกล้ตัว

Updated: Sep 12, 2020



ในอนาคตอันใกล้ระบบเศรษฐกิจจะไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยคนวัยทำงานเท่านั้น แต่จะเป็นระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยคนอายุยืน อายุเฉลี่ยของคนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจะสูงขึ้น จาก 75 ปี เป็น 85 ปี และ 100 ปีในอีก 20 ปีข้างหน้า (ที่มา : TDRI) ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ สังคมไทยจะมีสัดส่วนของประชากรอายุมากกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมากกว่า 13 ล้านคน จากรายงานประมาณการณ์ประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 โดย สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด-14 ปี) จะมีจำนวนลดน้อยลงเหลือเพียง 12.8% ของประชากร ในขณะที่ประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง 31.28% ของประชากรไทยทั้งหมด ทุกคนตระหนักดีว่า เราคงไม่สามารถพึ่งพาประชากรวัยหนุ่มสาวมาเลี้ยงดูยามแก่ได้ การวางแผนชีวิตวัยเกษียณมีความจำเป็นต้องเริ่มเร็วขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมต่อการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่การเตรียมสำรองเงิน แต่เป็นการเตรียมพร้อมสภาพแวดล้อมทุกด้านของชีวิตทั้งสภาวะร่างกาย สภาวะจิตใจ และออกแบบวิถีชีวิตที่มีจังหวะเหมาะสม ดังนั้น ความปรารถนาในชีวิตของผู้สูงวัยยุคใหม่แทบไม่มีคำตอบว่า เลี้ยงหลาน อีกต่อไป แต่เป็นการออกไปใช้ชีวิตเพื่อเติมเต็มความต้องการตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่

เราเองทั้งในฐานะคนในครอบครัวและนักธุรกิจ เข้าใจพฤติกรรมของผู้สูงวัยและได้เตรียมตัวที่จะอยู่ร่วมกับคนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ของสังคมดีแล้วหรือยัง

ภาคธุรกิจทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยได้เริ่มมองเห็นแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงนี้ และพยายามนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากมายที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีคุณภาพ คำถามคือสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

ผศ.ดร.ธนพล วีราสา รองคณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงหลักการทำธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องใส่ใจความต้องการของลูกค้า มอบคุณค่าให้ได้ตรงจุดมากที่สุด (Value driven business) ซึ่งในตลาดของผู้สูงอายุไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการตีโจทย์ไปที่การตอบสนองเฉพาะทางกายภาพของผู้สูงอายุ จึงเกิดเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงวัยจำนวนมาก เช่น ธุรกิจบ้านพักผู้สูงอายุ และกลุ่มธุรกิจ Nursing Care แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าด้วยบริบททางวัฒนธรรมของไทย การเปลี่ยนที่อยู่อาศัยในวัยเกษียณเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เราจึงพบเห็นโครงการที่มีคนซื้อแต่ไม่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ มองให้ลึกขึ้นกว่าการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่เป็นสิ่งใหม่แกะกล่องจนคนใช้ไม่คุ้นชิน แต่ต้องเป็นการใส่คุณค่าเพิ่มในสิ่งเดิม เติมเต็มความสุขให้กับบั้นปลายชีวิต โดยไม่เปลี่ยนสภาพแวดล้อมมากนัก

อะไรคือหัวใจสำคัญสำหรับสังคมอายุยืน

ถ้าเราจะทำธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย คงต้องตั้งโจทย์ใหม่ และคำนึงถึงสิ่งสำคัญเหล่านี้


  • Physical Needs: ความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย เมื่อมีอายุมากขึ้น สภาพร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม การเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การนั่ง ลุก เดิน จะเริ่มทำได้ยากขึ้น หรือแม้แต่การรับรู้รสชาติเปลี่ยนไป การออกแบบสินค้าที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุยังสามารถเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม จึงเป็นสิ่งแรกที่ผู้สูงอายุอยากใช้จ่ายเพื่อแลกกับความปกติสุขเดิม

  • ·Safety Needs: ความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ด้วยขนาดครอบครัวที่เล็กลง ผู้สูงอายุเริ่มอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น กิจกรรมที่เคยเป็นปกติในทุกวันอาจเกิดอุบัติเหตุถึงชีวิตได้ เช่น การขึ้นลงบันไดบ้าน หรือการเข้าห้องน้ำ เทคโนโลยีที่ช่วยดูแลความปลอดภัยในการใช้ชีวิตหรือการออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อคนทุกรูปแบบ (Universal Design) จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับสังคมอายุยืน

  • Love & Belonging: การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและคนในวัยอื่น หนึ่งในปัญหาทางใจเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ คือ ความเหงาและความโดดเดี่ยว บางครั้งอาจรุนแรงนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า จากงานวิจัย The Perennials: the future of ageing โดย Ipsos กล่าวว่า ผู้สูงอายุ ไม่ได้อยากให้แยกเขาออกจากสังคมหรือต้องถูกปรนนิบัติเป็นพิเศษ อยากให้มองเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและอยากที่จะทำความเข้าใจคนรุ่นอื่นด้วย

  • Esteem: การเห็นคุณค่าในตัวเอง การสร้างคุณค่าในตนเอง ไม่ควรหยุดลงเมื่อหยุดทำงาน ผู้สูงอายุหลังเกษียณแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำกิจกรรม หรือสร้างคุณประโยชน์บางอย่าง เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะการนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตไปแบ่งปันต่อให้ผู้อื่น จะยิ่งทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และยังช่วยลดภาวะอัลไซเมอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ

  • Self-Actualization: การเติมเต็มความหมายของชีวิต ช่วงชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เป็นโอกาสที่ผู้สูงอายุจะได้ทำตามความฝัน หรือสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ ด้วยความพร้อมทางด้านเวลาและการเงินที่มากขึ้น ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” จึงเป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ยอมใช้จ่ายมากกว่าการซื้อสิ่งของ ในทางกลับกัน การย้อนเวลากลับไปหาประสบการณ์ในความทรงจำที่อยู่เบื้องลึก และมีโอกาสได้ทำอีกครั้ง (Nostalgia Experience) ยิ่งเป็นการเติมเต็มความคิดถึงและความสุขของผู้สูงวัย ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่มาก เพราะต้องได้รับการออกแบบอย่างใส่ใจและพิถีพิถันจากผู้ให้บริการ #NEOBYCMMU #LongevityEconomy

679 views0 comments
bottom of page