top of page

เข้าใจ Business Feasibility ทำธุรกิจให้ปัง ไม่พังเพราะค่า GP และของแพง

Updated: Mar 29




ในวันที่ราคาแก๊สหุงต้มไซส์ 15 กิโลกรัม ราคาพุ่งจากถังละ 318 บาท จ่อขึ้นเป็น 363 บาทในเดือนกรกฏาคม 2565 รวมทั้งรายการข้าวของอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้นแทบทุกอย่าง วิกฤตการณ์นี้กระทบผู้บริโภคอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำธุรกิจขายของออนไลน์และผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งต้องพักหรือปิดกิจการไป แม้จะขายดีและมีการขายออนไลน์ที่ออเดอร์เต็มตลอดเวลา แต่กลายเป็นว่าแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทั้งวัตถุดิบต่างๆ บวกกับส่วนแบ่งการขายหรือ Gross Profit (GP) ที่ต้องหักให้กับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เป็นจำนวนไม่น้อย คำพูดที่ว่า “ขายดีแต่เจ๊ง” จึงเป็น Pain point แห่งยุคสมัย แต่เรื่องนี้มีทางออกมากกว่าการเลิกกิจการไปง่ายๆ นั่นคือการแก้เกมด้วยการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ (Business Feasibility) ที่จะช่วยให้คนทำธุรกิจมองสถานการณ์ได้รอบด้านและแหลมคมมากขึ้น


รู้เขารู้เรา ก่อนทำธุรกิจกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่

เพื่อให้ผู้ที่อยากสร้างธุรกิจของตัวเอง หรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่แล้วเห็นความเป็นมาและองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้เกิดสถานการณ์หลังชนฝาของผู้ประกอบการ ดร.วสุ กีรติวุฒิเศรษฐ์ อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจและการเงินสำหรับผู้ประกอบการ ได้เริ่มต้นวิเคราะห์ให้เห็นตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเฟื่องฟูของการทำธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้เอง จึงทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่เหล่านี้ครองตลาดและมีอำนาจในการต่อรอง (Bargaining power) เหนือกว่า “ผู้เล่น” ฝ่ายอื่นๆ ในตลาด อย่างร้านค้า หรือพนักงานรับส่งของ(Rider)

“ถ้าย้อนหลังกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่พวกนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่านี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเรียกว่า Right time, Right place, Right Technology องค์ประกอบทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ระบบอินเตอร์เน็ตดีขึ้นอย่างมาก คนมีความรู้เรื่อง Digital marketing มากขึ้น ประกอบกับมีการระบาดของโควิด-19 ด้วย ดังนั้นแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เหล่านี้จึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทุกคนใช้บริการกันหมด แม้ว่าโควิดจะหายไป แนวโน้มนี้ก็ยังคงอยู่ เพราะพอใจกับความสะดวก และตลาดได้รับการ Educate ไปแล้ว”

สถานการณ์ที่อาจารย์วสุได้ฉายภาพให้เห็นเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ปัจจัยเสริมที่ทำให้แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งมาจากพัฒนาการของ Digital marketing ที่ผู้คนในสังคมได้รับความรู้จากหลากหลายช่องทาง รวมทั้งมีประสบการณ์ตรงมาระดับหนึ่งแล้ว การซื้อขายของออนไลน์ทุกอย่างง่ายขึ้น แค่ปัดไปบนโทรศัพท์มือถือที่สัญญาณเสถียรและมีคุณภาพ ปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นรับส่งสินค้าต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย รวมทั้งในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องรักษาระยะห่าง กักตัวอยู่บ้านและเวิร์คฟรอมโฮม ยิ่งทำให้ธุรกิจแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่กลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ของผู้คน

นอกจากนั้นระบบการซื้อขายออนไลน์ที่ง่ายและคล่องตัว ยังเป็นอีกแรงหนุนเสริมที่ทำให้ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะโลกยุคใหม่ได้ปรับตัวเข้าสู่การทำธุรกรรมที่สะดวกมากขึ้นเช่น การทำธุรกรรมของธนาคารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile banking) ผ่านทางสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย ด้วยองค์ประกอบที่ลงตัวแทบทุกอย่างเหล่านี้ จึงทำให้การสร้างธุรกิจของตัวเองเป็นเรื่องไม่เกินฝัน สามารถลงทะเบียนเพื่อทำธุรกิจร่วมกับบริษัทแพลตฟอร์มได้ โดยเรียกว่าเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ (Partner) ทั้งในส่วนของร้านค้าและไรเดอร์ที่รับส่งสินค้า


“โจทย์สำคัญคือร้านอาหาร win รึเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ร้านข้าวหมกไก่ ขายอยู่ 100 บาท เมื่อเป็นพาร์ทเนอร์ของธุรกิจแพลตฟอร์มอาจต้องตั้งราคาให้สูงกว่านั้น เพราะแพลตฟอร์มจะหักค่า GP 30% ก่อน แล้วยังมีค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% เท่ากับเราโดนหักไปแล้ว 32.10 บาท จะเหลือประมาณ 67 บาทกว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเราจะวางแผนการเงินยังไง ซึ่งถ้าเราเป็นแพลตฟอร์มก็คงทำแบบนี้ เพราะเราขาดทุนมาหลายปีกว่าจะครองตลาดได้ เราต้องเข้าใจว่าชัยภูมิทางการค้าของเขากำลังดีมาก แต่เราในฐานะผู้ประกอบการต้องมาดูว่าธุรกิจที่เรากำลังจะทำ น่าเปิดกิจการหรือไม่ ถ้าเราเลือกร่วมงานกับแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ค่า GP หนักๆ เราจะอยู่ได้หรือไม่”


ในตลาดอันกว้างใหญ่และมีกระแสคลื่นลมโหมกระหน่ำ ปลาใหญ่อย่างบริษัทแพลตฟอร์มจึงมีอำนาจต่อรองเต็มที่ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่อาศัยช่องทางขายของออนไลน์ด้วยการร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ ต้องแบบรับเงื่อนไขทั้งค่า GP และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การทำธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หลายเจ้าแม้จะขายดีแต่ไม่อาจต้านทานต้นทุนที่สูงลิ่วต่อไปได้ บ้างปิดกิจการเลิกขายของออนไลน์รวมทั้งเลิกขายหน้าร้านไปเลย ในขณะที่บางเจ้ากัดฟันควักกระเป๋าตัวเองอุดรอยรั่วไปเรื่อยๆ ตามสายป่านที่มี ทางออกอยู่ตรงไหน เราจะแก้เกมเพื่อขายของออนไลน์ให้ปังและไม่พังแบบนี้ได้ยังไง


ติดอาวุธคนทำธุรกิจ ด้วยการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ (Business Feasibility)

“ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ ต้องคำนึงถึงเรื่องของการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ (Business Feasibility) เป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าธุรกิจที่จะทำนั้นเหมาะสมหรือไม่ในหลายๆ ด้าน เช่น ตัวผลิตภัณฑ์ การทำการตลาด ระบบ Operations การวางแผนบริหารจัดการ ไปจนถึงการวางแผนทางการเงิน คือคนส่วนใหญ่คิดว่าอยากมีธุรกิจ อยากทำ อยากได้ แต่อยากทำกับได้ทำจริงๆ มันคนละเรื่องกันนะ ดังนั้นความรู้ในการสร้างธุรกิจ โดยการทำ Feasibility จะช่วยให้ผู้ประกอบการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสม เพื่อตอนโจทย์ Pain point ของลูกค้าได้”


อาจารย์วสุยกตัวอย่างแนวคิดในการทำ Business Feasibility หรือการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ โดยชี้ให้เห็นว่าความรู้ในเรื่องนี้เป็นประโยชน์ทั้งหน้าใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจของตัวเอง หรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่แล้วแต่ต้องการประเมินสถานการณ์เพื่อก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง โดยเมื่อนำหลักการต่างๆ ของ Business Feasibility มาวิเคราะห์ธุรกิจแล้ว จะพบทางแก้ปัญหาหลากหลายวิธีเพื่อให้ทำธุรกิจประสบความสำเร็จได้ จากกรณีที่ร้านอาหารขายดีแต่สู้ค่า GP และต้นทุนต่างๆ ไม่ไหว เมื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจแล้วอาจจะต้องปรับโมเดลทางธุรกิจ เช่น ลดขนาดกิจการจากใหญ่เป็นกลาง หรือจากขนาดกลางเป็นเล็ก นอกจากนั้นอาจต้องพิจารณาผสมผสานช่องทางการขายให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น (Omni-channel) ทั้งการขายหน้าร้าน ออฟไลน์ และการขายของออนไลน์ รวมทั้งปรับกลยุทธ์ในเรื่องราคา มีการคำนวณหาจุดพอดีทุน (Break Even Analysis) เพื่อหาจุดที่ทำให้รู้แน่ชัดว่าต้องขายเท่าใดถึงจะคุ้มทุนและได้กำไร เป็นต้น


โดยอาจารย์วสุได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยการสมมติเหตุการณ์สำหรับคนที่อยากขายหมูปิ้ง โดยทั่วไปเฉลี่ยราคาขายที่ไม้ละ 10 บาท คำนวณค่าต้นทุนต่างๆ ไม่เกิน 5 บาท ซึ่งแปลว่าการขายหมูปิ้งหนึ่งไม้จะได้กำไร 5 บาท นอกจากนั้นอย่าลืมต้นทุนอื่นๆ อีก เช่น ค่าเช่าที่ประมาณ 500 ค่าจ้างลูกมือเสียบหมูและปิ้งขายอีก 400 บาท เท่ากับมีค่าต้นทุน 900 นำไปหารด้วย 5 เท่ากับคนทำธุรกิจขายหมูปิ้งต้องขายให้ได้อย่างน้อย 180 ไม้ จึงจะคุ้มทุน อาจดูเหมือนเป็นเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ แต่สิ่งนี้คือพื้นฐานการวิเคราะห์ธุรกิจ ซึ่งเป็นเสี้ยวเล็กๆ ในความรู้เกี่ยวกับ Business Feasibility ที่จะไต่ระดับสูงขึ้นไปจนถึงการวิเคราะห์การเงินขั้นสูงในเรื่องของกระแสเงินสด (Cash flow) และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถะปรับโมเดลทางธุรกิจจนกว่าจะลงตัว

ดังนั้นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้ให้กับผลลัพธ์แค่ว่า “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” หากแต่เป็นการปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้เหมาะสมและเป็นไปได้ อาจารย์วสุได้ยกตัวอย่างการปรับตัวในวิกฤตการณ์โควิดของผู้ประกอบการรายหนึ่งที่น่าสนใจ


“มีคนที่ทำธุรกิจขายเครื่องปรับอากาศ ซึ่งช่วงโควิดไม่มีใครอยากติดแอร์เพราะกลัวโรคระบาด เขามาปรึกษาผมจนกระทั่งคุยไปคุยมาพบว่าลูกค้ามักถามว่า “บริษัทพี่มีล้างแอร์รึเปล่า” ดังนั้นจากเดิมที่เป็นบริษัทติดตั้งแอร์อย่างเดียว เขาจึงมีแผนกล้างแอร์ขึ้นมาด้วย ใส่เป็นชุดอวกาศเลยเพื่อไปล้างแอร์ที่บ้านลูกค้าด้วย นี่คือปรับแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น ตอนนี้กลายเป็นหน่วยธุรกิจใหม่คือการล้างแอร์ นี่คืออย่างของการปรับตัวทางธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่จำกัดอยู่แค่สองทางเลือกคือการทำธุรกิจต่อหรือเลิกทำ แต่เป็นการปรับตัว”

ในชีวิตของเรามีทั้งขาขึ้นและขาลง การทำธุรกิจก็เช่นกัน แต่กฎของธรรมชาติย่อมละเว้นแก่ผู้ที่ปรับตัวได้และไม่เคยยอมแพ้แก่อุปสรรค กูรูด้านการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ขู่มาสองปีกว่าเรื่องเศรษฐกิจขาลง เงินเฟ้อ และปัญหารอบด้าน แต่ถ้าใจคนยังแกร่งและต้องการลุยหาแนวทางเพื่อขายของออนไลน์ให้ปังในทุกสถานการณ์ เราต้องติดอาวุธความรู้ โดยเฉพาะความสามารถในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ตามที่อาจารย์วสุได้ให้กำลังใจแก่ผู้ที่อยากสร้างธุรกิจของตัวเองทุกคนว่า “รู้เขารู้เรา รอบร้อยครั้ง เราอาจไม่ชนะร้อยครั้ง แต่ต้องมีสักครั้งที่เราชนะอย่างแน่นอน”

=====

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้กระบวนการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจเชิงลึก พร้อมทำเวิร์กชอปกับผู้เชี่ยวชาญ NEO ACADEMY เปิดรับสมัครหลักสูตร Mini MBA: New Business Development & Feasibility Analysis รุ่น 3 หลักสูตรที่ให้คุณได้วิเคราะห์ธุรกิจ จะรอดหรือจะร่วง ขาดทุนหรือทำกำไร ประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุนด้วยเครื่องมือที่เอากลับไปใช้ได้จริง มองความเป็นไปได้ของธุรกิจให้ครบรอบด้านด้วยหลักสูตร

สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่









246 views0 comments
bottom of page