top of page

ทักษะผู้บริหารในยุคดิจิทัล เป็นอย่างไร?



เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกของธุรกิจเปลี่ยนไปมากจากยุคสมัยก่อน สำหรับคนทำธุรกิจหรือผู้บริหารธุรกิจแล้วนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากที่ คุณจะต้องเข้าใจว่า “ทักษะการบริหารธุรกิจ” ในยุคสมัยก่อน นั้นอาจจะเป็๋นทักษะที่อาจจะยังไม่เพียงพอในการบริหารธุรกิจ ในยุคปัจจุบัน


แล้วทักษะอะไรบ้างที่ผู้บริหารในยุคดิจิทัล ควรมี? ลองไปอ่านพร้อมๆกันและลองตรวจสอบทักษะของเราเองว่าเรามีครบหรือขาดข้อไหน?


1. ทักษะในการสร้างรายได้ใหม่ๆในยุคดิจิทัล (ฺDigital Business Model Genertation Skill) ผู้บริหารยุคเก่า อาจเข้าใจเพียงแค่วิธีการหารายได้ผ่าน Business Model เดิมๆ เช่นการให้เช่า Landlord Model, การเป็นนายหน้า (Brokerage Model) หรือการซื้อมาขายไป แต่ว่า Business Model ในยุคดิจิทัล ที่มีข้อมูลเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้น เอื้อให้ผู้บริหารที่มีความสามารถในการสร้าง Business Model ใหม่ๆ ได้ ถ้าคุณมีความสามารถในการมองธุรกิจและคุณค่าของเกมส์ธุรกิจออก ในธุรกิจปัจจับันที่รูปแบบการทำธุรกิจเป็น ทั้งการผสมออนไลน์และออฟไลน์ (Brick & Click) นั้นทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่มากมายได้ประโยชน์จาก Data Asset เช่น Affiliation Model (การเป็นพันธมิตรและการแนะนำ) หรือ Subscription Model (การหาเงินจากค่าสมาชิก) เป็นต้น



2. ทักษะความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม (Creativity & Innovation Thinking) สำหรับใครที่ทำธุรกิจในยุคเก่าอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมธุรกิจจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และต้องสร้างสรรค์สิ่งใหมๆ่ ต้องเข้่าใจก่อนว่าธุรกิจในยุคก่อนนั้นอาจทำกำไรจากสิ่งที่เราเรียกว่า Imperfect Information หรือ ความอสมาตรของข้อมูล ทำให้ใครสามารถที่จะทำกำไรจากความไม่รู้ หรือรู้ไม่เท่าทันของผู้ซื้อได้ สมมติว่าคุณซื้อของมาราคานึง ถ้าผู้ซื้อไม่ทราบต้นทุน คุณก็สามารถที่จะบวกราคาสินค้าเท่าที่่คุณต้องการได้ แต่ในยุคปัจจุบันที่เราเข้าใกล้ Perfect Information (ข้อมูลที่สมมาตร) เข้าไปทุกที่ ทุกคนสามารถเช็คราคาสินค้า แหล่งผลิต ที่มาได้เพียงปลายนิ้ว ดังนั้่นถ้าเราขายสินค้าที่เหมือนกัน ของที่ทุกคนมี ก็เป็นการยากเหลือเกินที่เราจะสามารถที่จะทำกำไรได้ เพราะทุกคนสามารถเช็คข้อมูล ทราบต้นทุนทุกอย่าง ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารและนักธุรกิจควรทำคือต้องรู้จักสร้างสรรค์สินค้า การตลาด และนวัตกรรมการบริการใหม่ๆที่เหนือไปจากสิ่งที่ตลาดมี เพราะโลกธุรกิจปัจจุบันไม่ใช่โลกของ Mediocre อีกต่อไป แต่เป็นโลกของ Innovator คือคนที่กล้าที่จะแตกต่าง



3. ทักษะความเข้าใจในการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลและทักษะการบริหารข้อมูล (Digital Literacy & Data Governance) จริงๆแลัวทักษะในการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับงาน และการบริหารจัดการงานหลังบ้านให้เรียบร้อยนั้นก็เป็นทักษะที่คนทำงานไม่ว่าจะยุคสมัยไหนควรที่จะมีติดตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามองตามหลักความเป็นจริงว่า ปริมาณของข้อมูลในปัจจุบันนั้นเพิ่มจากแต่ก่อนแบบเท่าทวี และดูเหมือนไม่มีทางที่จะน้อยลงง่ายๆ เราอาจต้องคิดใหม่ว่าเราต้องการทักษะใหม่ในการทำงานที่จะช่วยให่เราบริหารจัดการข้อมูลต่างๆเหล่านั้นได้ ซึ่งทักษะนั้นเรียกว่า Digital Literacy นั่นเอง คือความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ คอมพิวเตอร์ มือถือ Device ต่างๆ และการใช้ Software และ Application ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้เราสามารถทำงาน และบริหารจัดการ Data ต่างๆได้ ซึ่งนั้นจะนำไปสู่ความสามารถในการจัดการชุดข้อมูลขององค์กร หรือ Data Governance นั่นเอง ผู้บริหารในยุคดิจิทัลควรเป็นคนที่รู้เท่าทัน และเข้าใจกฏหมาย กฏระเบียบ ข้อจำกัดและโอกาสต่างๆที่เทคโนโลยีนำมาสู่เรา อย่างเช่นกฏหมาย PDPA เป็นต้น ว่าเกี่ยวข้องกับการบริหารงานการตลาด และข้อมูลส่วนบุคคลของงาน HR ในองค์กรอย่างไร



4. ทักษะการบริหารคนในยุคดิจิทัล (People skill in Digital Era) การเป็นผู้บริหารที่ดีนั้น ต้องเก่งทั้งคนและเก่งทั้งงาน แต่เมื่อบริบทของยุคดิจิทัล เข้ามา การบริหารคนให้ดีนั้นก็เป็นความท้าทายของผู้บริหาร ในยุคปัจจุบันที่บางครั้ง พนักงานต้องมีการผสมทั้งแบบ Work from home และ Work from office จนถึงบางครั้งคือ Work from car! ผู้บริหารต้องมีทักษะในการบาลานซ์ ระหว่างเรื่องของอิสรภาพและสิทธิของพนักงาน กับสิ่งที่เรียกว่าคุณภาพของงาน เพราะการตึงไปอาจไม่ใช่คำตอบ การหย่อนไปอาจเป็นการทำร้ายบริษัท ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารต้องมีคือ Soft Skill หรือ Human Skill (ทักษะมนุษย์) ที่ต้องมีทั้งพระเดช พระคุณ ที่เห็นใจ ใส่ใจ ต้องได้ใจ แต่ก็ต้องได้งาน ดังนั้นสิ่งที่อาจช่วยผู้บริหารได้นั้นก็อาจจะย้อนกลับไปข้อ 3 คือ ผู้บริหารต้องมีทักษะในการเลือกใช้ Software ต่างๆ ที่ช่วยในการบริหารจัดการการทำงานร่วมกันคน ไม่ว่าจะเป็น APP ต่างๆที่ช่วยสื่อสาร Human Software ต่างๆที่ช่วยในการประเมินคุณภาพ หรือแม่แต่การ Clock in Clock out ในการ Work from home ก็เป็นสิ่งที่อาจช่วยให้่ผู้บริหารไม่ต้องมา Micro Management (การบริหารในภาพเล็กมากๆ เช่น มาลงบันทึกตารางเวลาการทำงานด้วยตัวเอง) และทำให้มีเวลาไปดูภาพใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น



5. ทักษะการตัดสินใจด้วยข้อมูล (Data-driven decision skill) คำว่ายุคดิจิทัลจริงๆแล้วก็คือยุคของ ดาต้า (Data) นั่นเอง คงไม่มียุคสมัยไหนอีกแล้วตั้งแต่มีโลกมนุษย์มาที่เราจะอยู่บนโลกที่เรามีข้อมูลเยอะขนาดนี้ เพราะข้อมูลต่างๆเหล่านั้นก็มาจากทั้ง Smart phone และ social media ต่างๆนั้นเอง สำหรับคนที่มีข้อมูลเยอะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ชนะ คนที่สามารถนำข้อมูลมาประยุตก์ใช้และช่วยในการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำต่างหากถึงเป็นผู้ที่ชนะ ดังนั้นผู้บริหารที่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องเป็นผู้บริหารที่มีทักษะในการบริหารและอ่านค่าของข้อมูล และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช่ในการตัดสินใจสำคัญทางธุรกิจได้ ผู้บริหารควรที่จะเข้าใจหลักการต่างๆในกระบวนการ ตั้งแต่ Data Architect (สถาปัตยกรรมข้อมูล เพื่อการออกแบบโครงสร้างข้อมูลทั้งหมดขององค์กร), หลักการ Data Integration (การบูรณาการข้อมูลต่างๆขององค์กร), Data visualization (การออกแบบสื่อสารข้อมูลด้วยภาพ) ตลอดจนการพิจารณาข้อมูลและตัดสินใจสิ่งต่างๆบนฐานข้อมูลที่มี


จริงๆ แล้วทักษะทั้ง 5 ข้างต้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในโลกยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงทุกวัน ยังมีทักษะอีกมากที่ผู้บริหารควรที่จะต้องพัฒนาไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ หรือทักษะการการคิดเชิงการออกแบบที่เอาลูกค้า หรือผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง


จริงๆแล้วสิ่งหนึ่งที่อาจสำคัญไม่แพ้ทักษะ (Skill) นั่นคือ ชุดกรอบความคิด (Mindset)

ที่ผู้บริหารควรบอกตัวเองว่า คลื่นลูกใหม่สูงและทรงพลังกว่าคลื่นลูกเก่าเสมอ… เช่นเดียวกันกับ

คลื่นเทคโนโลยีดิจิทัลที่อยู่ที่เราจะเลือกว่าเราจะ Sink (จมลงทะเล) หรือ Ride the wave (โต้คลื่น)

ดิจิทัลลูกนี้ให้สนุกไปพร้อมๆกัน


ผู้เขียน อาจารย์เต็ม - ดร. ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาผู้ประกอบการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล, อาจารย์ผู้สอน Business Management in Digital Era NEO Academy by CMMU


#ผู้นำยุคดิจิทัล

#การบริหารในยุคดิจิทัล


สำหรับผู้ที่สนใจ upskill การบริหารในยุคดิจิทัล สามารถลงทะเบียนได้ที่



1,674 views0 comments

Comments


bottom of page