
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสตาร์ทอัพไฟแรง หรือบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจมาหลายทศวรรษ ผู้นำทุกองค์กรรู้ดีว่าการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพและทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากที่สุดวิธีหนึ่งคือ การสร้าง project team เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด หรือผู้บริหารมักจะใช้วิธีนี้ที่เรียกว่า “การบริหารทีมข้ามสายงาน” (Cross-functional management) เพราะตามทฤษฎีแล้ว การบริหารโครงการนี้เรียกได้ว่าเป็นอุดมคติที่จะรวบรวมพนักงานจากหลายแผนกหลากความสามารถ เพื่อทำงานให้สำเร็จร่วมกัน แต่ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ มาค้นหาเคล็ดลับและกรณีศึกษาที่จะช่วยให้การบริหารทีมข้ามสายงาน เป็นดรีมทีมที่แท้จริง!
เหตุผลที่ผู้นำเก่งๆ ชื่นชอบการบริหารทีมข้ามสายงาน
ผู้นำที่บริหารธุรกิจในองค์กรสมัยใหม่ให้ประสบความสำเร็จ จะไม่หยุดอยู่กับการทำงานแบบต่างคนต่างทำที่เรียกว่าองค์กรไซโล (Silo Organization) คือแต่ละฝ่ายทำแค่งานประจำของตัวเอง แต่จะให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมแบบข้ามสายงาน (Cross-functional) ที่เหมาะกับการทำโปรเจ็คท์อย่างคล่องตัว สามารถดึงทักษะของพนักงานที่แตกต่างหลากหลายในองค์กรให้ปรากฎออกมา เพื่อร่วมมือกันทำโครงการระยะสั้นหรือระยะยาวให้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
การทำงานเป็นทีมในลักษณะนี้ตอบโจทย์การจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ และท้าทายความสามารถของผู้นำนวัตกรรม เป็นการบริหารธุรกิจที่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งพนักงานในทีม ผู้จัดการที่รับผิดชอบโครงการ ไปจนถึงเป้าหมายสำคัญคือประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการนั้นๆ ก่อนอื่นผู้นำทีมต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าการบริหารทีมข้ามสายงานมีประโยชน์กับทุกคนยังไงบ้าง
ช่วยให้การบริหารธุรกิจคล่องตัว ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน (Agile Management) การบริหารทีมข้ามสายงานเป็นรูปแบบของทีมเล็กๆ ที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดี แต่ละคนมีทักษะที่แตกต่างเพื่อเติมเต็มการแก้ปัญหาหลากหลายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นบรรยากาศในการทำงานยังสนุก ฉับไว ไม่อุ้ยอ้าย นั่นคือเหตุผลที่การจัดการธุรกิจสมัยใหม่เลือกใช้วิธีนี้ในการบริหารโครงการเพื่อผลิตโปรดัคส์ใหม่ๆ เพราะทั้งสร้างสรรค์และเกิดผลผลิตในระยะเวลาอันสั้น
สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน การบริหารธุรกิจสมัยใหม่ต้องคำนึงถึงความสำคัญของทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของพนักงาน มีผลการศึกษาพบว่า 63% ของพนักงานรู้สึกว่าไม่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานของตัวเอง และประสบปัญหาที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากองค์กร การบริหารธุรกิจด้วยรูปแบบการบริหารทีมข้ามสายงานจะช่วยแก้ปัญหารูทีนซ้ำๆ แบบนี้ได้ นอกจากนั้นยังลดช่องว่างระหว่างพนักงานระดับต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ได้ข้อมูลเชิงลึก (Insights) เพิ่มมากขึ้น ผลการวิจัยพบว่าการทำงานแบบไซโลที่ต่างคนต่างทำ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ในการนำมาวิเคราะห์ Insight สำคัญๆ ต่างๆ ในขณะที่การบริหารทีมแบบข้ามสายงานจะทลายการทำงานเป็นแท่งๆ เหล่านี้ลง ผู้จัดการของโครงการสามารถระดมทักษะเฉพาะของเพื่อนร่วมทีมมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ นำมาซึ่งข้อมูลเชิงลึกและหลากหลายซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงานอย่างฉับไว
เพิ่มพูนทักษะในการจัดการและการบริหารธุรกิจ เพราะการบริหารทีมแบบข้ามสายงานไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่มีกันทุกคน หากแต่ต้องฝึกฝนและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน โดยทักษะในการบริหารธุรกิจใหม่ๆ เกิดจากการทำงานกับผู้คนที่มีพื้นฐานภูมิหลังที่แตกต่างกัน การจะผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จจึงเป็นทั้งความท้าทาย และเพิ่มพูนทักษะในการจัดการของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแต่ละคนยังได้รับโอกาสให้เป็นผู้นำในสิ่งที่ตนถนัด ผู้จัดการโครงการได้ฝึกฝนที่จะมอบหมายให้คนเก่งของแต่ละแผนก ทดลองบริหารทีมในภาระงานด้านต่างๆ พัฒนาความเชื่อมั่นและสร้างทีมเวิร์คที่ภาคภูมิใจในผลงานไปด้วยกัน
บริษัทชั้นนำในการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ ใช้วิธีการบริหารทีมข้ามสายงาน
ความสำเร็จของบริษัทระดับโลกไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน พวกเขาค่อยๆ สอดแทรกการบริหารทีมแบบข้ามสายงานให้กลายเป็นการบริหารธุรกิจที่เป็นวัฒธรรมขององค์กร กระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในบริษัท สร้างบรรยากาศขององค์กรนวัตกรรมที่เต็มไปด้วยผู้นำนวัตกรในสไตล์โลกธุรกิจยุคใหม่ มาดูสองตัวอย่างที่น่าสนใจของบริษัทชั้นนำต่อไปนี้
บริหารทีมข้ามสายงานเพื่อสร้างสุดยอดนวัตกรรมแบบ Apple ผู้จัดการด้านวิศวกรรมซอฟท์แวร์ของแอปเปิ้ลเคยพูดถึงความสำเร็จในการบริหารธุรกิจไว้ว่า “การเฝ้ามองวิธีการบริหารทีมแบบข้ามสายงาน และความสัมพันธ์ของพวกเราในการทำงานร่วมกันจนปรากฎเป็นผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น ทำให้ผมภูมิใจมากๆ” iPhone คือหนึ่งในผลงานที่เขาพูดถึง ด้วยการบริหารทีมข้ามสายงานของแอปเปิ้ล พวกเขาระดมผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละแผนกให้มาช่วยกันสร้างสรรค์และปฺฏิรูปวงการสมาร์ทโฟนไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาจึงตระหนักดีว่าการทำงานเป็นทีมอันยิ่งใหญ่ นำมาซึ่งนวัตกรรมที่ล้ำค่าเพียงใด
คิดนอกกรอบแบบ Northwestern Mutual Life “หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเราคือการคิดนอกกรอบ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเป็นผู้สร้างกรอบเหล่านั้น” ผู้อำนวยการของบริษัทด้านการเงินชั้นนำของอเมริกาแห่งนี้ได้พูดไว้ การจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ด้วยการบริหารทีมข้ามสายงานขององค์กรนี้ ประกอบด้วยฝ่ายการเงิน การลงทุน และนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มาร่วมกับทำโครงการเพื่อศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มีอิทธิพลต่อโลกธุรกิจอย่างไร ผลลัพธ์คือบริษัทได้สร้างสรรค์แผนกเกี่ยวกับระบบข้อมูลเป็นเจ้าแรก มีความได้เปรียบอย่างมากเมื่อคอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม และยังใช้การบริหารทีมข้ามสายงานเพื่อสร้างสรรค์ผลงานในโครงการอื่นๆ ความสำเร็จนี้ทำให้พวกเขารอดพ้นจากวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจโลกในปี 2563 มีผลกำไรสูงขึ้น มีรายได้ 31.1 พันล้านดอลลาร์ เกินดุล 32.3 พันล้านดอลลาร์ และมีสินทรัพย์รวมถึง 308.8 พันล้านดอลลาร์
จึงสรุปได้ว่าการบริหารทีมแบบข้ามสายงาน คือหนึ่งในเทคนิคความสำเร็จของการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ ท้าทายความสามารถของผู้นำนวัตกรรม และสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยบุคลากรรุ่นใหม่ที่ลดช่องว่างระหว่างสายงานลง ในขณะที่ขยายผลสำเร็จให้สูงที่สุด ในบรรยากาศการทำงานที่คล่องแคล่ว ยืดหยุ่น เป็นการบริหารธุรกิจที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกคนอย่างแท้จริง
Commentaires