top of page

20 คำจำจงดี สำหรับนักธุรกิจมือใหม่


รวมคำศัพท์สำหรับนักธุรกิจมือใหม่ NEO Academy รวบรวมความหมายของคำเหล่านี้มาไว้ด้วยกัน ให้คุณได้ลองทบทวนกันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการมือฉมัง คนทำธุรกิจมือใหม่ หรือเป็นผู้ที่มีความสนใจอยากเริ่มต้นมีกิจการเป็นของตนเอง คำศัพท์พื้นฐานเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการต่อยอดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่มั่นคงแข็งแรงต่อไปได้ในอนาคต


1. สินทรัพย์ (Assets)

สิ่งที่อยู่ในครอบครองของกิจการ อาจะเป็นได้ทั้งสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แต่คาดว่าทำให้เกิดผลประโยชน์งอกเงยในอนาคต แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ทั้งสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) เช่น เงินสด สินค้าในสต๊อก สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (Non-Current Assets) เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมระยะยาว การลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนในอนาคต และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ซึ่งไม่มีตัวตนที่ปรากฏให้เห็น แต่มีมูลค่าเป็นเงินตรา และถือกรรมสิทธิ์ได้ เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ความนิยมในหมู่ผู้บริโภค



2. หนี้สิน (Liabilities) จำนวนเงินที่กิจการเป็นหนี้บุคคลอื่นหรือพันธะอันเกิดจากการค้า การกู้ยืมโดยมีภาระผูกพันต้องชำระคืน ด้วยสินทรัพย์ หรือบริการตามที่ตกลงไว้กับอีกฝ่ายหนึ่ง มีข้อผูกมัดที่มีผลทางกฎหมาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) เป็นหนี้สินระยะสั้นที่ต้องชำระภายใน 1 ปี และหนี้สินระยะยาว (Long-term Liabilities) มีระยะเวลาการชำระคืนนานกว่า 1 ปี หรือนานกว่ารอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการนั้น ๆ



3. ส่วนของเจ้าของ (Owner's equity) อ่านคำนี้ครั้งแรกอาจจะสับสนได้ แต่ความหมายที่แท้จริงของคำนี้ก็คือ มูลค่าทรัพย์สินแบบสุทธิหลังจากที่หักหนี้สินของกิจการแล้ว เรียกอีกอย่างได้ว่า สินทรัพย์สุทธิ (Net Assets) นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้บ่งบอกความเสี่ยงทางการเงินของกิจการได้ ส่วนของเจ้าของแต่ละกิจการจะมีมูลค่าและองค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน ตามแต่ชนิดการประกอบธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นกิจการที่มีเจ้าของคนเดียว กิจการห้างหุ้นส่วน หรือกิจการที่จดทะเบียนบริษัท



4. อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เป็นตัวเลขแสดงอัตราส่วนทางการเงินระหว่างผลกำไรสุทธิ (Net Profit) กับยอดขาย (Sales) หากอัตรากำไรสุทธิสูง แสดงว่ากิจการทำกำไรได้ดี หากอัตรากำไรสุทธิต่ำ แสดงว่ากิจการอาจมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไม่ได้กำไรเท่าที่ควร จึงกล่าวได้ว่านี่เป็นหนึ่งในตัวเลขที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของกิจการและความสามารถของผู้บริหารได้



5. งบกำไรขาดทุน (Income Statement) เป็นประเภทหนึ่งของงบการเงินที่แสดงแสดงยอดขายและค่าใช้จ่ายของกิจการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เป็นได้ทั้งรายเดือน รายไตรมาส รายปี ในรายงานงบการเงินประเภทนี้จะเผยให้เห็นการผลการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน ช่วยในการวางแผนปรับปรุงหรือพัฒนาการดำเนินงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี



6. งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) เป็นประเภทหนึ่งของงบการเงินที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดของกิจการ ประกอบด้วยกระแสเงินไหลเข้า (Cash Inflows) และกระแสเงินไหลออก (Cash Outflows) มักใช้เป็นปัจจัยที่นักลงทุนนำมาประเมินสภาพคล่องของกิจการ ประเมินความเสี่ยงของกิจการ



7. งบดุล (Balance Sheet) เรียกอีกอย่างว่า งบแสดงฐานะการเงิน บ่งบอกถึงสภาพความมั่นคงเชิงเปรียบเทียบระหว่างสภาพสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ จัดทำขึ้นเพื่อแสดงฐานะการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง โดยหน้าแสดงผลงบดุลจะแบ่งออกไปเป็น ส่วนสินทรัพย์ และส่วนหนี้สินกับส่วนของเจ้าของ ซึ่งจะต้องเท่ากันทั้ง 2 ฝั่ง หากตัวเลขออกมาไม่เท่ากัน แสดงว่ากิจการขาดสภาพคล่องกฎหมายกำหนดไว้ว่าใน 1 ปีจะต้องมีการจัดทำงบดุล 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย เพื่อให้หน่วยงานรัฐประเมินและจัดเก็บภาษีได้



8. ต้นทุนผันแปร (Variable Costs) ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตามสัดส่วนของการผลิต การบริการ ของธุรกิจนั้นๆ เมื่อผลิตมาก ต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อผลิตน้อย ต้นทุนจะลดต่ำลง เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าจัดส่ง ฯลฯ โดยที่ต้นทุนผันแปรต่อหนึ่งหน่วยจะคงที่เสมอ แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วจะไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต หรือการบริการที่ลงมือทำในแต่ละช่วงเวลา นำมาใช้ในการ​​คำนวณหาจุดคุ้มทุนและการเติบโตของกำไรร่วมกับต้นทุนคงที่ได้



9. ต้นทุนคงที่ (Fixed costs) ต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสัดส่วนของการผลิต การบริการของธุรกิจนั้นๆ แต่เป็นต้นทุนที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คงที่ ไม่ว่าจะผลิตมาก หรือน้อย เช่น ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร ค่าจัดทำบัญชี โดยต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะไม่เท่ากัน เมื่อผลิตมากต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะน้อย เมื่อผลิตน้อยต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะมาก นำมาใช้ในการ​​คำนวณหาจุดคุ้มทุนและการเติบโตของกำไรร่วมกับต้นทุนผันแปรได้



10. ต้นทุนผสม (Mixed Costs) ต้นทุนที่มีทั้ง ต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปรผสมอยู่ด้วยกัน แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ ต้นทุนกึ่งคงที่ (Semi-Fixed Cost) โดยจะคงที่ในช่วงระดับหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนแปลงไปอีกระดับต้นทุนก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อีกแบบคือ ต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi-Variable Cost) เป็นต้นทุนที่จำนวนรวมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการผลิต หรือการบริการ แต่การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของต้นทุนไม่เป็นไปในอัตราส่วนเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของการผลิต หรือการบริการ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น



11. จุดคุ้มทุน (Break Even) จำนวนของสินค้าหรือบริการที่ต้องผลิตและขายให้ได้ เพื่อให้รายได้ถึงจุดคุ้มทุน มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน นอกจากจะเป็นจุดที่บ่งบอกถึงกำไรและขาดทุนแล้ว ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประเมินธุรกิจได้ด้วย ว่าจะต้องผลิตเท่าไร หรือขายให้ได้เท่าไรเพื่อไปให้ถึงจุดคุ้มทุน แต่นอกเหนือจากการขายแล้ว ต้องไม่ลืมว่ายังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายแปรผัน ราคาขาย และจำนวนยอดขาย ซึ่งส่งผลต่อจุดคุ้มทุนด้วยเช่นกัน



12. ผลิตภาพ (Productivity) การวัดประสิทธิภาพของการผลิต การทำงาน การบริการ โดยมีปัจจัยชี้วัดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละกิจการ แต่โดยส่วนใหญ่มักนำปริมาณผลผลิตที่คาดไว้ (Input) มาเปรียบเทียบกับ ผลลัพธ์ (Output) นั่นเอง ผลิตภาพไม่ใช่เพียงใช้กับการผลิตที่นับชิ้นสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานของกิจการ ใช้กับการทำงานรูปแบบอื่นๆ ได้เช่นกัน ใช้เป็นตัวประเมินผลความสำเร็จที่ตั้งเป้าไว้ รวมถึงเป็นเป้าหมายในการทำงานที่ทุกคนมองเห็นภาพตรงกันและร่วมกันไปให้ถึงได้



13. ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เมื่อได้ยินคำนี้ หลายคนจะมองเห็นภาพในหัวเป็นสายโซ่ที่คล้องเชื่อมต่อเนื่องกัน ซึ่งสื่อถึง คือ เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างกิจการต่างๆ ในระหว่างเส้นทางการผลิต จากต้นทางวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง การจัดจำหน่าย ไปจนถึงมือลูกค้า แสดงให้เห็นว่าทุกกระบวนการมีความเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด หากห่วงโซ่ใดขาดออก หรือทำงานบกพร่องก็ย่อมส่งผลต่อการทำงานของส่วนอื่นๆ ตามไปด้วย



14. การจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) แนวทางการสร้างระบบการทำงานและระเบียบสำหรับผู้ดำเนินงาน​ เพื่อควบคุมคุณภาพให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามที่ตั้งมาตรฐานไว้ และมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการทำงานที่ยึดถือคุณภาพเป็นศูนย์กลาง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกฝ่ายในองค์กร ตั้งแต่ระดับบริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ รวมถึงพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองความต้องการ หรือมอบสิ่งที่เหนือความคาดหมายให้แก่ลูกค้า



15. การเทียบเคียงสมรรถนะ (Benchmarking)

กระบวนการวัดและเปรียบเทียบผลผลิต การให้บริการและกระบวนการทำงานของกิจการต่างๆ เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้นต่อไป การเทียบเคียงแต่ละครั้งนอกจากจะกำหนดคู่เทียบว่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เปรียบเทียบกับธุรกิจในตลาดเดียวกัน หรือธุรกิจในตลาดอื่นๆ และยังจำเป็นต้องกำหนดว่าจะเป็นการเปรียบเทียบเฉพาะผลการปฏิบัติงาน เปรียบเทียบวิธีการปฏิบัติงาน เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เปรียบเทียบด้านกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อให้สามารถคัดเลือกข้อมูลมาใช้พัฒนากิจการต่อไปได้อย่างไม่หลงทาง



16. ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี(Just-in-time)

ระบบการจัดการการผลิตที่ใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการที่พอดีกับความต้องการ เพื่อลดการสต็อกสินค้าไว้ในคลัง ลดการเหลือทิ้งของวัตถุดิบ (Raw Material) เป็นระบบที่ต้องอาศัยการคำนวณที่แม่นยำ รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการผลิต การขนส่ง โดยเป็นระบบการผลิตที่ตรงข้ามกับ Mass Production ที่เน้นผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้นมาพร้อมกันในคราวเดียวเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดเก็บ



17. วงจรธุรกิจ (Business Cycle) คือรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง ประกอบด้วย การขยายตัว (Expansion) ตามมาด้วยจุดสูงสุด (Peak) มาสู่การถดถอย (Recession) นำไปสู่การปรับฐานราคาใหม่ แล้วจึงค่อยๆ เกิดการฟื้นตัว (Recovery) และหมุนเวียนต่อเนื่องเป็นการขยายตัวของวัฏจักรใหม่ต่อไป ระยะเวลาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงอาจไม่แน่นอน อาจเกิดได้จากปัจจัยภายในของกิจการนั้นๆ เอง หรือปัจจัยภายนอกอย่างสภาวะทางเศรษฐกิจ หรือตลาดที่มีคู่แข่งใหม่เพิ่มเข้ามา เป็นต้น



18. การพยากรณ์ทางความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasts) การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต จากข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการใช้งาน การใช้จ่าย พฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้าที่ผ่านมา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแม่นยำ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระเบียบและต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นแนวโน้มความต้องการที่แท้จริง และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นไปได้อีกด้วย


19. การสำรวจตลาด (Market Survey) กระบวนการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายทางการค้า เพื่อวางตำแหน่งของกิจการนั้นๆ ในตลาด เพื่อมองหาข้อมูลเชิงลึกนอกเหนือจากภาพกว้างที่มักมีเว็บไซต์ สถาบันต่างๆ รวบรวมไว้ให้แล้ว นำข้อมูลที่ได้มาสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือปรับปรุงบริการให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างมีหลักการ การสำรวจตลาดของแต่ละธุรกิจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ทั้งในแง่ของโจทย์ทางธุรกิจความเข้มข้นของการแข่งขันในตลาด ไปจนถึงความถี่ในการสำรวจตลาดในแต่ละปี



20. มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนถึงความเสี่ยงของกระแสเงินสดในอนาคต เป็นตัวช่วยให้นักลงทุนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเกิดขึ้นจากมุมมองทางด้านการเงิน โดยโครงการที่มีค่า NPV เป็นบวกตีความได้ว่าน่าลงทุน หาก NPV เท่ากับศูนย์ ควรพิจารณาปัจจัยอื่นเพิ่มเติมว่ามีโอกาสที่จะสร้างกำไรในอนาคตหรือไม่ และหาก NPV เป็นลบ ก็เท่ากับว่าไม่ควรลงทุนกับโครงการนี้



นี่เป็นเพียงคำศัพท์เบื้องต้นเท่านั้น ในหลักสูตร Mini MBA - New Business Creation & Feasibility Analysis หลักสูตรการสร้างสรรค์และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่ โดย NEO Academy ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวให้เรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่การทำธุรกิจเดิมให้ดีขึ้น หรือสร้างธุรกิจใหม่อย่างมั่นคงได้ในปัจจุบันอันแสนจะผันผวน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.neobycmmu.com/mini-mba-new-business-creation



อ้างอิง



90 views0 comments

Comments


bottom of page